บริการ

วีซ่า

ข้อมูลทั่วไป

1.  คนต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องขอรับการตรวจลงตราหรือขอวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยซึ่งตั้งอยู่ในประเทศที่ตนมีถิ่นพำนัก หรือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลประเทศที่คนต่างชาติดังกล่าวมีถิ่นพำนัก หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานที่ขอวีซ่า กรุณาสอบถามได้จากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยทุกแห่ง
2.  คนต่างชาติบางสัญชาติสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งมี 2 กลุ่มดังนี้
(1)  ประเทศที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว และสามารถพำนักอยู่ในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน

(2)    ประเทศที่มีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรากับประเทศไทย

3.  คนต่างชาติบางสัญชาติสามารถมาขอรับการตรวจลงตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของไทยบางแห่งที่กำหนดไว้ เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยได้ (visa on arrival) โดยสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 15 วัน

4.  คนต่างด้าวที่เดินทางมาจากประเทศเขตติดโรคไข้เหลืองจะต้องแสดง “เอกสารระหว่างประเทศรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลือง” (International Health Certificate on Yellow Fever Vaccination) ในการยื่นคำร้องขอรับการตรวจลงตรา ณ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ รวมทั้งจะต้องแสดงเอกสารดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้

5.  คุณสมบัติโดยทั่วไปของผู้ที่จะยื่นขอวีซ่าเข้าไทยได้มีดังนี้
–  ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ถูกต้องสมบูรณ์ และมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน
–  มีหลักฐานแสดงว่าจะเดินทางออกจากประเทศไทยหลังจากสิ้นสุดการพำนักในไทย เช่น ตั๋วเครื่องบิน  และมีวีซ่าหรือหลักฐานว่าสามารถเดินทางกลับประเทศที่มีถิ่นพำนัก หรือเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นได้ (ในกรณีขอเดินทางผ่าน)
–  ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522  เช่น เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลไทยหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ  มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน  หรือเป็นบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ   มีเงินค่าใช้จ่ายเพียงพอในขณะพำนักในไทยตามระเบียบกำหนดคืออย่างน้อยคนละ 20,000 บาท  เป็นต้น

6.  ในการขอวีซ่านั้น คนต่างชาติจะต้องขอรับการตรวจลงตราให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการเข้ามาในประเทศไทย  ทั้งนี้ การอนุมัติวีซ่าอยู่ในดุลพินิจของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่  และในการตรวจลงตราให้แก่คนต่างชาติบางสัญชาติ ได้มีการกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นพิเศษ   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทุกแห่ง

7. เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการเดินทาง คนต่างชาติที่จะขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทยควรจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับอายุของวีซ่า (visa validity) และระยะเวลาพำนัก (period of stay) อายุของวีซ่าหมายถึงระยะเวลาที่ผู้ได้รับวีซ่าสามารถใช้เดินทางมาประเทศไทยได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กงสุลจะเป็นผู้กำหนดอายุของวีซ่าและจะปรากฏอยู่ในวีซ่าสติ๊กเกอร์หรือตราประทับวีซ่าของสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่  โดยทั่วไปอายุของวีซ่าคือ 3 เดือนนับจากวันที่ออกวีซ่า แต่ในบางกรณีและสำหรับวีซ่าบางประเภทอายุของวีซ่าอาจเป็น 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือ 3 ปี

ส่วนระยะเวลาพำนักหมายถึงระยะเวลาที่ผู้เดินทางได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศไทยได้  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาพำนักเมื่อคนต่างชาติเดินทางมาถึง และจะปรากฏอยู่ในตราประทับขาเข้า  ระยะเวลาพำนักขึ้นอยู่กับประเภทของวีซ่า เช่น  transit visa จะได้รับอนุญาตให้พำนักได้ไม่เกิน 30 วัน   tourist visa ไม่เกิน 30 วันหรือ 60 วัน  และ non-immigrant visa ไม่เกิน 90 วัน   หากมีความจำเป็นต้องอยู่เกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว คนต่างชาติต้องไปยื่นคำร้องขออนุญาตอยู่ต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (มีสำนักงานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด)  มิฉะนั้น หากอยู่เกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต จะถูกปรับวันละ 500 บาทรายละเอียดเกี่ยวกับการขออนุญาตอยู่ต่อ สอบถามได้จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โทร. 0-2141-9889  หรือดูที่เว็บไซต์ www.immigration.go.th

8.  คนต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยวีซ่าประเภทใด ๆ ก็ตาม ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน  ดังนั้น คนต่างชาติที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องขอรับการตรวจลงตราประเภทที่ถูกต้องคือ Non-Immigrant Visa “B”  เพื่อที่จะสามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานได้  รายละเอียดเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตทำงานดูได้ที่เว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่ www.doe.go.th/workpermit/index.html

9.  สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยมีอำนาจหน้าที่ในการให้วีซ่าแก่คนต่างชาติเพื่ออนุญาตให้เดินทางมาประเทศไทยได้  อย่างไรก็ดี การอนุญาตให้เข้าประเทศไทย รวมทั้งการกำหนดระยะเวลาที่จะอนุญาตให้พำนักในประเทศไทย เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง  ดังนั้น คนต่างชาติที่ได้รับวีซ่าแล้วบางรายอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลดังกล่าวมีลักษณะหรือพฤติการณ์เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

เอกสารที่จำเป็นในการยื่นขอรับการตรวจลงตรา

1.  ใบคำร้องขอรับการตรวจลงตรา

2.  หนังสือเดินทางที่มีอายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน

3.  สำเนาหนังสือเดินทาง

4.  ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ หรือหลักฐานยืนยันการจองการเดินทาง

5.  หนังสือรับรองฐานะทางการเงินจากธนาคาร

6.  หนังสือรับรองการทำงาน (ในกรณีที่ทำงาน)

7.  หนังสือรับรองการฉีดวัคซีนไข้เหลือง (ในกรณีที่เดินทางจากพื้นที่ไข้เหลือง)

8.  รูปถ่ายสี 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)

หมายเหตุ: การตรวจลงตราขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถานเอกอัครราชทูต ในบางกรณี สถานเอกอัครราชทูตอาจจะขอสัมภาษณ์หรือขอดูเอกสารเพิ่มเติมได้

ค่าบริการรับการตรวจลงตรา ประเภทต่างๆ

1.  เดินทางผ่าน/1ครั้ง          250    ปอนด์อียิปต์

2.  ท่องเที่ยว/1 ครั้ง              300   ปอนด์ิอียิปต์

3.  คนอยู่ชั่วคราว (3 เดือน)    580  ปอนด์อียิปต์

4.  คนอยู่ชั่วคราว (1 ปี)        1,420 ปอนด์อียิปต์

หนังสือเดินทาง

ประเภทหนังสือเดินทาง

1.  หนังสือเดินทาง (อายุ 5 ปี)

2.  หนังสือเดินทางชั่วคราว (อายุ 1 ปี)
Temporary Passport
  (สำหรับคนไทยทีหนังสือเดินทางหมดอายุหรือสูญหาย และมีความประสงค์จะเดินทาง
ไปต่างประเทศอย่างเร่งด่วน)

3.  หนังสือสำคัญประจำตัว
Certificate of Identity – C.I
  (สำหรับคนไทยที่หนังสือเดินทางหมดอายุหรือสูญหายในอียิปต์ และ
มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยเร่งด่วน)

การขอหนังสือเดินทาง

หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport) คือหนังสือเดินทางที่มีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ (Biometric Data) ได้แก่ รูปใบหน้าและม่านตา หรือลายนิ้วมือไว้ใน Contactless Integrated circuit ซึ่งฝังอยู่ในหนังสือเดินทาง และมีการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของหนังสือเดินทาง

E-Passport มีอายุ 5 ปี และไม่สามารถต่ออายุในเล่มเดิมได้ เมื่อหนังสือเดินทางหมดอายุจะต้องขอเล่มใหม่

ข้อมูลส่วนตัวในหนังสือเดินทางจะอ้างอิงตามข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ของผู้ขอหนังสือเดินทางที่ประเทศไทย ดังนั้น
ชื่อ – สกุลในหนังสือเดินทางเล่มใหม่จะตรงกับหลักฐานทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชน โดยจะไม่ขึ้นอยู่กับหนังสือเดินทางเล่มเดิม  หากผู้ยื่นคำร้องต้องการให้นามสกุลในหนังสือเดินทางเป็นนามสกุลหลังการสมรส/หย่า จะต้องแก้ไขข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ก่อนที่จะขอทำหนังสือเดินทาง

1. การยื่นคำร้อง 
1.    ติดต่อฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ในวันทำการ ระหว่างเวลา 09.00-16.30 น.
2.    ผู้ขอหนังสือเดินทางจะต้องเดินทางไปทำหนังสือเดินทางด้วยตนเอง กรณีบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(อายุไม่ถึง 20 ปี) ผู้ปกครอง (ทั้งบิดาและมารดา) จะต้องมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ด้วย
3.    ไม่ควรวางแผนเดินทางหากยังไม่ได้รับหนังสือเดินทางเล่มใหม่  ณ ปัจจุบันนี้ ระยะเวลาในการผลิตหนังสือเดินทางไทยไม่น้อยกว่า 2 เดือน
4.    ค่าธรรมเนียม 250 ปอนด์อียิปต์ (เงินสด)

2. แบบฟอร์มที่ต้องกรอก 
1.      คำร้องขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ จำนวน 1 ชุด 
2.      บันทึกสอบสวน จำนวน 1 ชุด (กรณีหนังสือเดินทางหาย)

3. หลักฐานประกอบ

3.1 บุคคลที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป
1.    หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน
2.    สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด

3.2 บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และ บิดา – มารดาจดทะเบียนสมรสกันแล้ว 
1.    หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน
2.    สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
3.    สำเนาสูติบัตรไทย จำนวน 1 ชุด
4.    สำเนาทะเบียนสมรสของบิดา – มารดา จำนวน 1 ชุด
5.    สำเนาหน้าหนังสือเดินทางของบิดา – มารดา จำนวน 1 ชุด
6.    สำเนาบัตรประชาชน หรือ ทะเบียนบ้านของบิดา – มารดา (เฉพาะผู้มีสัญชาติไทย) จำนวน 1 ชุด

3.3 บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และ บิดา – มารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส
1.    หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน
2.    สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
3.    สำเนาสูติบัตรไทยจำนวน 1 ชุด
4.    สำเนาใบปกครองบุตร (ป.ค.14) จำนวน 1 ชุด
5.    สำเนาหน้าหนังสือเดินทางของบิดา – มารดา จำนวน 1 ชุด
6.    สำเนาบัตรประชาชน หรือ ทะเบียนบ้านของบิดา-มารดา (เฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทย) จำนวน 1 ชุด

3.4 บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และ บิดา  มารดาได้จดทะเบียนหย่าเเล้ว
1.    หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน
2.    สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
3.    สำเนาสูติบัตรไทย จำนวน 1 ชุด
4.    สำเนาทะเบียนหย่าและบันทึกการหย่าของบิดา – มารดา จำนวน 1 ชุด
5.    สำเนาใบปกครองบุตร (ป.ค. 14) หรือบันทึกการหย่าที่ระบุผู้มีอำนาจในการปกครองบุตร จำนวน 1 ชุด
6.    สำเนาหน้าหนังสือเดินทางของบิดา – มารดา จำนวน 1 ชุด
7.    สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ปกครองบุตร จำนวน 1 ชุด

***ในกรณีบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี – ต้องมีบิดาและมารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หรือหากไม่สามารถลงนามด้วยตนเองได้ ต้องมีหนังสือยินยอมของบิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย